ลักษณะโดยทั่วไป
แบบสอบถาม
เครื่องตักขยะแบบต่อเนื่องนี้ มักจะถูกนำไปใช้ในส่วนของการบำบัดขั้นต้นเพื่อแยกของแข็งออกจากน้ำเสีย เช่น การแยกขยะที่ลอยมากับน้ำหรือเศษขยะที่แขวนลอยอยู่ในน้ำเสียก่อนเข้าระบบบำบัดน้ำเสีย การตักขยะจะใช้สายพานตักขยะหมุนตักขยะอย่างต่อเนื่อง โดยจะตักขยะที่ลอยน้ำและแขวนลอยอยู่ในน้ำขึ้นมาด้านบน เมื่อขยะถูกตักขึ้นมาแล้วจะถูกส่งต่อไปยังส่วนต่อไป เช่น ถังเก็บขยะ หรือระบบลำเลียง เป็นต้น
   
   
รูปแบบและการติดตั้ง

เครื่องจักรนี้มีรูปแบบเป็นโครงเหล็กรองรับสายพานลำเลียงในแนวตั้งโดยมีขอตัก(Filter Rake Elements) ร้อยเรียงอยู่ระหว่างสายพาน ขนาดการตักขยะจะกำหนดจากขนาดช่องเปิดของขอตัก (Opening) อยู่ระหว่าง 3 มม. ถึง 15 มม. หรือตามแต่ข้อกำหนดของผู้ผลิต ต้นกำลังเป็นชุดขับแบบเกียร์มอเตอร์ ประกอบอยู่ด้านบนโดยทั่วไปขนาดกำลังไฟฟ้าที่ใช้สำหรับชุดขับจะเริ่มต้นที่ 0.25 kW สำหรับเครื่องจักรหน้ากว้าง 1 ม. ที่บ่อน้ำลึกไม่เกิน 3 ม. หรือใกล้เคียง และกำลังที่ต้องการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดของเครื่องตามคำแนะนำของผู้ผลิต และระหว่างการทำงานต้องมีการชำระล้างสายพานตักด้วยตัวเองตลอดเวลา โดยใช้แปรงปัดและระบบท่อน้ำฉีดล้างเพื่อให้การตักขยะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ลักษณะการติดตั้งจะติดขวางลำรางน้ำเสียซึ่งหย่อนลงมาในแนวตั้งและเมื่อติดตั้งตัวเครื่องจะเอียงรับน้ำอยู่ที่มุม 75 หรือ 85 องศา ขึ้นอยู่กับรุ่นและวัสดุที่ใช้ทำโครงของเครื่อง และเครื่องจะถูกประคองโดยขารับซ้ายขวาติดอยู่ข้างโครงเครื่องจักร

 
 
องค์ประกอบของเครื่องจักร
โครงเครื่อง (Main Frame) มีลักษณะเป็นโครงเหล็กด้านซ้ายและขวาประกอบกันให้มีขนาดหน้ากว้างและความยาวเหมาะสมกับขนาดของร่องน้ำ (Channel Width and Depth) ส่วนตรงกลางจะเป็นที่ว่างสำหรับรองรับชุดสายพานตักขยะ โดยปกติโครงเครื่องทำจากเหล็ก แบบ SS400 หรือ สแตนเลส แบบ SUS304

 
สายพานตักขยะ (Traveling Belt) จะประกอบขึ้นเป็นชุดมีส่วนประกอบหลักดังนี้ โซ่สายพาน (Traveling Chain), ขอตัก (Filter Element), ก้านขอตัก (Shaft for Filter Element), แถบข้างขอตัก (Side Plate) และแหวนขอตัก (Snap Ring)
โซ่สายพาน (Traveling Chain) โซ่สายพานจะอยู่ที่ด้านข้างทั้งสองของแถวสายพานตัก โซ่จะต้องถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักของสายพานตักขยะ และน้ำหนักขยะที่ตักได้ โซ่ทำจากสแตนเลส แบบ SUS304
ขอตัก (Filter Elements) ขอตักจะมีลักษณะเหมือนคราดโกย มีรูเพื่อสอดก้านขอตัก 2 รู ในชิ้นหนึ่งจะถูกจัดเรียงเป็นแถวเพื่อให้มีหน้าตัดที่กว้างตามการใช้งาน ขอตักแต่ละแถวจะถูกยึดต่อเนื่องกันเป็นสายพาน ขอตักแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ ส่วนขอ (Front Arms) จะมีหน้าที่ตักขยะชิ้นใหญ่ที่มากับน้ำเสีย ส่วนที่สอง คือก้านของขอตัก (Rear Arms) ทำหน้าที่ตักชิ้นส่วนขนาดเล็ก ขอตักจะถูกออกแบบมาให้ขยะที่ถูกตักไม่เกิดการอัดแน่นบนส่วนใดส่วนหนึ่งของขอตัก ดังนั้นการต้านทานของกระแสน้ำที่ผ่านจะมีน้อยและขยะจะถูกเททิ้งออกไปได้ง่าย ขนาดช่องเปิดของขอตัก (Opening) อยู่ระหว่าง 3 มม. ถึง 15 มม. หรือตาม แต่ข้อกำหนดของผู้ผลิต ขอตักทำจากพลาสติก แบบ ABS

ก้านขอตัก (Shaft for Filter Elements) ขอตักแต่ละแถวจะถูกยึดให้ติดกับสายพาน โดยก้านขอตักที่จะสอดผ่านรูกลางขอตัก (Central Boss) และ รูของขอตัก (Front Boss) ก้านของขอตักทำจาก สแตนเลส แบบ SUS304
แถบข้างขอตัก (Side Plates) แถบข้างขอตักจะอยู่ที่ปลายทั้งสองของแต่ละแถวของสายพาน จะถูกจัดวางในลักษณะ เหลื่อมกันและเคลื่อนตัวไปพร้อมกับสายพาน แถบข้างนี้จะมีหน้าที่ช่วยป้องกันการอุดตันของขยะด้านข้างของสายพานแถบข้างขอตักทำจาก สแตนเลส แบบ SUS304
แหวนขอตัก (Snap Rings) แหวนขอตักจะถูกยึดที่ปลายทั้งสองของก้านขอตัก แหวนขอตักทำจากสแตนเลส แบบ SUS304
ชุดเฟืองโซ่ขับสายพาน (Drive Sprocket and Shaft) เฟืองโซ่สายพานจะถูกเชื่อมเป็นชิ้นเดียวกับแกนขับของโซ่สายพาน โดยปกติทั้งเฟืองและแกนขับทำจากเหล็ก S45C หรือ สแตนเลส แบบ SUS304
ฐานของตัวเครื่อง (Lower Base) ฐานของตัวเครื่องติดตั้งอยู่ด้านล่างของโครงเครื่อง ทำจากสแตนเลส แบบ SUS304 ซึ่งจะประกอบกันเป็นชุดกับแปรงด้านล่างที่ทำจาก Polyurethane เพื่อปัดเศษขยะที่ติดและป้องกันขยะผ่านที่ด้านล่างของเครื่องจักร
 
 
ชุดขับ (Drive Unit) ชุดขับจะติดตั้งอยู่ด้านบนของเครื่อง สำหรับเป็นต้นกำลังในการขับสายพานตักขยะ ชุดขับเป็นแบบหมุนคงที่ (Fix Speed) รอบการหมุนของชุดขับควรเลือกไว้ที่ประมาณ 5-7 รอบต่อนาที และเป็นแบบวางกับพื้น (Foot Mount) โดยทั่วไปขนาดกำลังไฟฟ้าที่ใช้สำหรับชุดขับจะเป็นแบบ 380 V / 50 Hz / 3 ph และมีกำลังขับเริ่มต้นที่ 0.25 kW สำหรับเครื่องจักรหน้ากว้าง 1 ม. ที่บ่อน้ำลึกไม่เกิน 3 ม.หรือใกล้เคียง และกำลังที่ต้องการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดของเครื่อง ตามคำแนะนำของผู้ผลิต
ตู้ควบคุมเครื่องจักร (Control Panel) จะกล่าวถึงการควบคุมโดยทั่วไป การควบคุมเครื่องจักรสามารถทำได้ 2 แบบ ได้แก่ แบบแมนนวล (Manual) และแบบอัตโนมัติ (Automatic) โดยแบบ Manual ผู้ใช้งานสามารถเปิดปิดเครื่องได้ตามที่ต้องการ ส่วนแบบอัตโนมัติสามารถเลือกใช้ได้อีก 2 แบบ ได้แก่ แบบอัตโนมัติโดยการตั้งเวลาเปิด-ปิด (Timer) เครื่องจักรจะเปิด-ปิดเครื่องตามที่ผู้ใช้งานตั้งเวลาไว้ และแบบเปิด-ปิดโดยใช้อุปกรณ์ตรวจจับความแตกต่างของระดับน้ำ (Pressure Differential Switch) กล่าวคือถ้าด้านหน้ามีขยะติดมาก ระดับน้ำจะสูงกว่าด้านหลังเครื่องจนถึงระดับค่าแตกต่าง ที่ตั้งไว้ อุปกรณ์จะส่งสัญญาณให้เดินเครื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งและจะหยุดเดินเครื่องเอง ค่าความแตกต่างที่มักจะเลือกใช้อยู่ที่ 0.3 ถึง 0.5 เมตรน้ำหรือใกล้เคียง