ลักษณะโดยทั่วไป
แบบสอบถาม

เครื่องเติมอากาศแบบผิวน้ำ เป็นเครื่องเติมอากาศที่เป็นที่นิยมใช้กันมากเนื่องจากติดตั้งง่าย และสะดวกในการดูแลรักษา มีลักษณะการเติมอากาศในแนวดิ่งและกวนน้ำ ในขณะเดียวกันทำให้เกิดการกวนอย่างสมบูรณ์ (Complete Mix) ไม่ทำให้เกิดจุดอับอากาศ (Dead Zone) ในบ่อเติมอากาศ จึงเหมาะกับระบบบำบัดที่มีบ่อเติมอากาศขนาดใหญ่ และระดับน้ำค่อนข้างลึก สำหรับเครื่องเติมอากาศแบบนี้จะมีอัตราการถ่ายเทออกซิเจนอยู่ที่ 0.8 ถึง 1.5 กก.ออกซิเจน/ชม./แรงม้า

 
 
รูปแบบและการติดตั้ง

เครื่องจักรนี้มีรูปแบบเป็นแบบใบพัดแบบโคนจานหมุนในน้ำแนวดิ่งโดยมีมอเตอร์เกียร์ขับอยู่ทางด้านบนผิวน้ำ ใบพัดจะหมุนตีน้ำให้อากาศทางด้านบนถ่ายเทลงไปด้านล่างและแผ่ขยายออกไปเป็นวงกลม โดยบริเวณการถ่ายเทอากาศจะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องจักรขึ้นอยู่กับกำลังของมอเตอร์เกียร์ ผู้ติดตั้งสามารถยึดเครื่องจักรเข้ากับโครงรองรับด้านบน หรือ ติดตั้งบนทุ่นลอยบนผิวน้ำวางเป็นสามเหลี่ยม และยึดด้วยสลิงจากขอบบ่อ

 
 
   
องค์ประกอบของเครื่องจักร
มอเตอร์เกียร์ (Gear Motor) เป็นต้นกำลังในการหมุนใบพัดเติมอากาศ (Air Impeller) โดยมีการทดรอบอยู่ที่ช่วงประมาณ 50 ถึง 120 รอบต่อนาที ติดตั้งในแนวดิ่งแบบหน้าจาน (Flange Mount) มอเตอร์ไฟฟ้าจะต้องเป็นแบบปิดมิด (TEFC) และต้องกันน้ำสาดและน้ำฝน (IP55 Class F) หรือเทียบเท่า ขนาดของมอเตอร์เกียร์จะเลือกจากปริมาณการเติมออกซิเจนให้กับน้ำและการจัดวางเครื่องจักรลงบ่อ โดยผู้เลือกใช้สามารถออกแบบและเลือกขนาดและจำนวนได้ตามต้องการ ขนาดของมอเตอร์จะเริ่มต้นจาก 0.75 kW (1 HP) ไปจนถึง 110 kW (~150 HP) หรือขึ้นอยู่กับผู้ผลิต
ใบพัดเติมอากาศ (Air Impeller) มีลักษณะเป็นใบพัดแบบโคน (Conical Shape and Spiral Blade) ด้านบนจะมีหน้าจานเพื่อประกบกับส่วนของมอเตอร์เกียร์ ขณะหมุนจะกวนน้ำและดึงน้ำจากส่วนล่างของบ่อเติมอากาศขึ้นมาด้านบน ทำให้น้ำแตกกระจายและอากาศสามารถแทรกเข้าจับกับน้ำเสียได้ดียิ่งขึ้น ใบพัดเติมอากาศมักจะทำมาจากเหล็กแบบ SS400 และพ่นทับด้วยสีอีพอกซี่
โครงยึดเครื่อง (Support Frame) ลักษณะของโครงยึดเครื่องจะขึ้นอยู่กับการติดตั้ง ซึ่งผู้ใช้งานมักจะติดตั้งเครื่องบนทุ่นลอย (Float) โครงยึดเครื่องจะมีลักษณะเป็นก้านสามก้านสำหรับยึดติดกับทุ่นลอยทั้งสามมุม ด้านบนยึดติดกับหน้าจานของ
มอเตอร์เกียร์ตรงกลางเครื่อง ส่วนด้านที่จะยึดติดกับทุ่นลอยจะอยู่ที่ปลายก้านทั้งสาม โครงยึดเครื่องมักจะทำมาจาก
เหล็กแบบ SS400 และพ่นทับด้วยสีอีพอกซี่
ทุ่นลอย (Float) จะมีลักษณะคล้ายทรงกระบอกตั้ง โดยมีข้อต่อสำหรับยึดกับก้านของโครงยึดเครื่องทั้งสามด้าน ทุ่นลอยมักจะทำมาจากเหล็กแบบ SS400 พ่นทับด้วยอีพอกซี่ และภายในบรรจุโฟมเพื่อช่วยในการพยุงตัวให้ลอยได้ดี