ลักษณะโดยทั่วไป
แบบสอบถาม

เครื่องตักขยะละเอียดแบบดรัมหมุนนี้มักจะถูกนำไปใช้ในส่วนของการกรองเอาเศษขยะขนาดเล็ก กากจากอุตสาหกรรมอาหาร ขนและเศษของสัตว์ที่ติดมากับ น้ำเสีย เส้นใยจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอื่นๆ โดยน้ำเสียที่จะถูกส่งมาที่เครื่องจักรนี้ และดักกรองจะผ่านตะแกรงทรงกระบอกแบบดรัมหมุน น้ำที่ดักกรองออกมาจะไหลลงไปยังระบบบำบัดอื่นๆต่อไป ส่วนเศษที่ดักได้จะติดอยู่หน้าเครื่อง และเมื่อเศษดังกล่าวถูกดักกรองขึ้นมาแล้วจะไหลลงไปยังส่วนต่อไป เช่น ถังเก็บขยะ หรือ ระบบรางลำเลียง เป็นต้น

 
 
รูปแบบและการติดตั้ง

เครื่องจักรนี้จะมีลักษณะเป็นเหมือนกล่องใส่น้ำ โดยมีตะแกรงดักทรงกระบอกแบบดรัมหมุนอยู่ด้านหน้า น้ำเสียจะถูกส่งขึ้นมาเข้าทางด้านน้ำเข้า (Raw Inlet) และเมื่อเข้าไปแล้วจะสะสมจนล้นมาทางด้านหน้าของเครื่องและเศษต่างๆ จะถูกดักกรองตามขนาดช่องเปิดที่กำหนดไว้ โดยเริ่มจาก 0.25 มม. ไปจนถึง 2.50 มม. หรือตามแต่ผู้ผลิตจะกำหนด เศษที่ถูกดักจะไหลลงมาทางด้านหน้าลงถังขยะ หรือ รางระบายที่เตรียมไว้ ส่วนน้ำที่ผ่านลงมาจะไหลลงไปยังขบวนการบำบัดอื่นต่อไป ซึ่งดรัมจะหมุนโดยชุดขับอยู่ตลอดเวลาเมื่อเครื่องจักรทำงานและจะมีระบบน้ำล้างทำงานอยู่ตลอดเมื่อเครื่องทำงานเพื่อให้หน้าสัมผัสสะอาดพร้อมที่จะหมุนมากรองได้อย่างต่อเนื่อง การเลือกใช้เครื่องจักรแบบนี้จะดูจากลักษณะของน้ำที่เข้า (Influent Type), ปริมาณน้ำที่เข้า (Flow Rate) และปริมาณของแข็งแขวนลอยในน้ำ (SS) และจะนำมาเลือกความกว้างของเครื่อง เริ่มจากหน้ากว้าง 500 มม. ไปจนถึงประมาณ 2,500 มม. การติดตั้งเครื่องจักรนี้จะถูกยึดบนฐานที่แข็งแรงเหมาะกับน้ำหนักของเครื่องและน้ำเข้ามา และจะติดตั้งให้หน้าจานรับน้ำเข้าและท่อระบายน้ำอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับท่อส่งน้ำและท่อระบายน้ำที่จะนำเข้ามาต่อ และจะอยู่ตรงกันข้ามกับตะแกรงดัก

 
 
องค์ประกอบของเครื่องจักร
โครงเครื่อง (Main Frame) จะมีลักษณะเป็นกล่อง ซึ่งส่วนประกอบที่โครงหลักจะถูกเชื่อมติดอย่างแข็งแรง โดยมีแผ่นโครงปิดซ้ายขวา ด้านหน้าจะทำฐานไว้รองรับตะแกรงแบบดรัมหมุน ชุดขับ และชุดน้ำล้าง ด้านหลังจะมีกล่องรับน้ำติดอยู่ ส่วนด้านล่างจะเป็นแผ่นโครงปิดพร้อมมีข้อต่อส่งน้ำที่ดักกรองแล้วออก โดยปกติโครงเครื่องจะทำจากสแตนเลสแบบ SUS304
กล่องรับน้ำ (Head Box) มีลักษณะเป็นกล่องด้านบนพร้อมข้อต่อเป็นหน้าจานเพื่อรับน้ำเข้า กล่องนี้ทำหน้าที่ลดความปั่นป่วนของน้ำเสียที่เข้ามา ก่อนจะล้นไปยังตะแกรง โดยปกติกล่องรับน้ำจะทำจากสแตนเลสแบบ SUS304
ตะแกรงแบบดรัมหมุน (Rotating Sieve Drum) ตะแกรงมีลักษณะเป็นทรงกระบอก แบบดรัมและมีเพลาทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งสำหรับติดตั้งชุดขับ และอีกด้านหนึ่งจะใช้สำหรับติดตั้งระบบน้ำล้าง ตะแกรงจะติดตั้งทางด้านหน้าของเครื่อง โดยปกติตัวตะแกรงจะประกอบจากลวดสามเหลี่ยมวางเรียงกันในแนวขวาง ยึดเกาะต่อกันได้โดยลวดสี่เหลี่ยมวางในแนวยาวม้วนเป็นทรงกระบอกแบบดรัมตามที่ต้องการ โดยปกติตะแกรงทำจากสแตนเลสแบบ SUS304
ระบบน้ำล้าง (Wash Water System) มีลักษณะเป็นท่อและมีหัวฉีดติดตั้งอยู่เรียง ติดตั้งภายในตะแกรงดรัมและผ่านเข้าทางด้านข้าง โดยจำนวนหัวฉีดจะขึ้นอยู่กับความกว้างของเครื่อง เช่น เครื่องหน้ากว้าง 500 มม. จะติดตั้งหัวฉีดจำนวน 6 หัว ใช้น้ำล้างประมาณ 1.5 -2.0 ลบ.ม./ชม. ที่ความดันอย่างน้อย 4 บาร์ เป็นต้น
ชุดขับ (Drive Unit) ชุดขับจะติดตั้งอยู่ด้านบนของเครื่อง สำหรับเป็นต้นกำลังในการขับสายพานตักขยะ ชุดขับเป็นแบบหมุนคงที่ (Fix Speed) รอบการหมุนของชุดขับควรเลือกไว้ที่ประมาณ 10 รอบต่อนาที และเป็นแบบไม่มีเพลาเพื่อสวมเข้ากับเพลาของดรัม (Foot Mount and Hollow Shaft) โดยทั่วไปขนาดกำลังไฟฟ้าที่ใช้สำหรับชุดขับจะเป็นแบบ380 V / 50 Hz / 3 ph และมีกำลังขับเริ่มต้นที่ 0.25 kW สำหรับเครื่องจักรหน้ากว้าง 0.5 ม. และกำลังที่ต้องการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดของเครื่อง ตามคำแนะนำของผู้ผลิต