ลักษณะโดยทั่วไป
แบบสอบถาม
เครื่องเติมอากาศแบบดูดพ่นหรือเจ็ท เป็นเครื่องเติมอากาศที่เป็นที่นิยมใช้กันมากเนื่องจากติดตั้งง่าย และสะดวกในการดูแลรักษามีลักษณะเป็นการเติมอากาศแบบดูดพ่นอากาศจากผิวน้ำและเป่าลงในน้ำ (Self-Aspirating or Sub-surface Horizontally Directed) อากาศจะถูกดูดจากผิวน้ำผ่านเข้ามาทางท่อส่งอากาศ (Main Hollow Shaft) วางเอียงกับลงไปในน้ำ ซึ่งต่อมาจากมอเตอร์ไฟฟ้าด้านบน อากาศที่พ่นลงไปในน้ำจะเป็นเม็ดเล็กโดยออกทางใบพัดแบบไม่อุดตัน (Non Clogged Impeller) สำหรับเครื่องเติมอากาศแบบนี้อากาศที่พ่นลงไปในน้ำจะมีอัตราการถ่ายเทออกซิเจนอยู่ที่ 0.8 ถึง 1.5 กก.ออกซิเจน/ชม./แรงม้า
 
รูปแบบและการติดตั้ง
เครื่องจักรนี้มีรูปแบบเป็นท่อส่งอากาศทรงกระบอกยาวด้านบนเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าและด้านล่างเป็นใบพัดพ่นอากาศ ท่อส่งอากาศ (Main Hollow Shaft) จะถูกหมุนโดยตรงจากมอเตอร์ไฟฟ้าและบริเวณด้านบนของท่อมีร่องสำหรับให้อากาศจากผิวน้ำถูกดูดเข้าไปในท่อและจะส่งต่ออากาศไปทางด้านล่างใต้น้ำออกทางใบพัดพ่นอากาศ (Air Impeller) ใบพัดพ่นอากาศสามารถออกแบบเป็นหัวจ่ายแบบฟองละเอียด (Diffuser and Impeller) หรือเป็นใบพัดแบบออกตรง (Direct Blow and Impeller) ขึ้นอยู่กับแบบเครื่องจักรเครื่องจักรจะถูกติดตั้งเอียงบนผิวน้ำลงไปในน้ำโดยมุมเอียงจะอยู่ที่ 30-60 องศา เทียบกับระดับผิวน้ำ ผู้ติดตั้งสามารถยึดเครื่องจักรเข้ากับโครงรองรับด้านบน หรือ ติดตั้งบนทุ่นลอยบนผิวน้ำและยึดด้วยสลิงจากขอบบ่อหรือสวมอยู่บนเสาที่ปักอยู่ที่จุดใช้งานก็ได้
 
 
องค์ประกอบของเครื่องจักร
มอเตอร์ไฟฟ้า (Electric Motor) เป็นต้นกำลังในการหมุนท่อส่งอากาศ (Hollow Shaft) มอเตอร์ไฟฟ้าจะต้องเป็นแบบปิดมิด (TEFC) และต้องกันน้ำสาดและน้ำฝน (IP55 Class F) หรือเทียบเท่า ขนาดของมอเตอร์จะเลือกจากปริมาณการเติมออกซิเจนให้กับน้ำและการจัดวางเครื่องจักรลงบ่อ โดยผู้เลือกใช้สามารถออกแบบและเลือกขนาดและจำนวนได้ตามต้องการ ขนาดของมอเตอร์จะเริ่มต้นจาก 0.75 kW (1 HP) ไปจนถึง 20 kW (~25 HP) หรือขึ้นอยู่กับผู้ผลิต
หน้าจานหลัก (Mounting Bracket) เป็นหน้าจานที่เป็นส่วนต่อยึดระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้าและท่อส่งอากาศด้วยน๊อตอย่างแข็งแรง หน้าจานหลักจะทำจากเหล็กแบบ SS400 หรือสแตนเลสแบบ SUS304 ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต
ท่อส่งอากาศ (Main Hollow Shaft) มีลักษณะเป็นท่อหนาปลายด้านหนึ่งเป็นหน้าจานสำหรับยึดติดตักหน้าจานหลักและปลายอีกด้านหนึ่งเป็นส่วนของใบพัดพ่นอากาศ ท่อส่งอากาศจะถูกออกแบบให้มีชุดลูกปรับศูนย์ติดตั้งบริเวณส่วนกลางของท่อเพื่อใช้ในการตั้งศูนย์เครื่อง (Balancing) ท่อส่งอากาศมักจะทำมาจากสแตนเลสแบบ SUS304
ใบพัดพ่นอากาศ (Air Impeller) ติดตั้งที่ส่วนปลายของท่อส่งอากาศประกอบด้วยใบพัดและท่อพ่นอากาศ โดยท่อพ่นอากาศจะมีอยู่สองแบบคือแบบท่อพ่นอากาศแบบฟองละเอียด (Diffuser) และท่อพ่นอากาศโดยตรง (Direct Blow) แบบแรกจะส่งอากาศออกมาทางท่อขนาดเล็กจำนวนสามท่อเพื่อให้ได้ฟอกอากาศแบบเล็ก และแบบหลังจะพ่นอากาศออกมาโดยทางออกเดียว ใบพัดพ่นอากาศมักจะทำมาจากสแตนเลสแบบ SUS304
โครงสวมท่อส่งอากาศ (Protection Tube) มีลักษณะเป็นโครงสวมเข้ากับท่อส่งอากาศเพื่อป้องกันท่อส่งอากาศ จะยึดติดกับมอเตอร์ ด้านปลายของโครงจะมีแผ่นกันอากาศกระแทกที่ผิวน้ำ (Vortex Shield) เพื่อป้องกันไม่ให้ใบพัดเสียหายจากการกระแทกของอากาศที่ผิวน้ำ โครงสวมท่อส่งอากาศมักจะทำมาจากสแตนเลสแบบ SUS304
โครงยึดเครื่อง (Support Frame) ลักษณะของโครงยึดเครื่องจะขึ้นอยู่กับการติดตั้ง ถ้าติดตั้งด้านบน โครงจะเป็นแบบฉากหันขึ้นด้านบน ด้านหนึ่งจะยึดติดกับเครื่อง สามารถปรับมุมเอียงได้ตั้งแต่ 30 ไปจนถึง 60 องศา อีกด้านหนึ่งจะออกแบบให้ยึดติดกับฐานที่รองรับได้อย่างแข็งแรง กรณีติดตั้งเครื่องบนทุ่นลอย (Float) โครงยึดเครื่องจะมีลักษณะเป็นแผงสำหรับยึดติดกับทุ่นลอย ด้านที่จะยึดติดกับเครื่องจะเหมือนแบบแรก ส่วนด้านที่จะยึดติดกับทุ่นลอยจะขึ้นอยู่กับลักษณะและรูปแบบของทุ่น โครงยึดเครื่องมักจะทำมาจากเหล็กแบบ SS400 ชุบด้วยกัลป์วาไนซ์หรือเป็นสแตนเลส แบบ SUS304
ทุ่นลอย (Float) จะมีสองลักษณะได้แก่ ทุ่นรูปตัวยู (U-Float) และทุ่นแบบทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Rectangular Float) แบบแรกมักจะใช้กับเครื่องขนาดเล็กประมาณ 5 แรงม้าลงมา และแบบหลังจะใช้กับเครื่องขนาดใหญ่กว่าและจะมีสามทุ่นต่อเครื่อง ทุ่นลอยจะทำจากพลาสติกแบบโพลีเอททีลีน (PE) และบรรจุโฟมเพื่อช่วยในการพยุงตัวให้ลอยได้ดี